การมีบ้านเป็นของตนเองเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนใฝ่ฝันแต่โดยทั่วไปแล้วผู้ซื้อส่วนใหญ่มักมีเงินสดไม่เพียงพอเนื่องจากบ้านเป็นทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงมาก ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดจึงเป็นการขอสินเชื่อกับทางสถาบันการเงินเพราะเป็นแหล่งให้สินเชื่อที่น่าเชื่อถือและมีระบบที่สุด ซึ่งสถาบันการเงินแต่ละที่ก็มีกฎเกณฑ์และเงื่อนไขในการประเมินสถานะทางการเงินของผู้ขอสินเชื่ออย่างเข้มข้น จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนทำเรื่องยื่นกู้กับสถาบันการเงิน (5 สิ่งควรทำ เตรียมตัวกู้ซื้อบ้าน”) ซึ่งนอกจากธนาคารจะดูในเรื่องของรายได้ ความมั่นคง ภาระหนี้สินแล้ว สิ่งที่หลายคนละเลยก็คือการแสดงเอกสารและหลักฐานการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งนับว่าเป็นหลักฐานชั้นดีในการยืนยันรายได้นั่นเอง

     มาทำความเข้าใจในเรื่องของการยื่นแสดงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีผลต่อการอนุมัติสินเชื่อเป็นอย่างยิ่ง เนื้อหาจะเป็นอย่างไรบ้างนั้นมาติดตามกันเลยค่ะ

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคืออะไร
     ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไป หรือจากหน่วยภาษีที่มีลักษณะพิเศษ ตามที่กฎหมายกำหนด และมีรายได้เกิดขึ้น ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยปกติจัดเก็บเป็นรายปี รายได้ที่เกิดขึ้นในปีใดๆ ผู้มีรายได้ มีหน้าที่ต้องนำไปแสดงรายการตนเอง ตามแบบแสดงรายการภาษีที่กำหนด ภายในเดือนมกราคม ถึงมีนาคมของปีถัดไป

แบบแสดงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
     สำหรับผู้ที่จะชำระภาษี ต้องยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อเป็นการแสดงหลักฐาน ซึ่งในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานี้ มีด้วยกันหลากหลายรูปแบบ แต่ในบทความนี้ขอพูดถึงแบบแสดงรายการภาษี ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 ที่ทางสถาบันการเงินนิยมขอดูเพื่อ เป็นหลักฐานเพิ่มเติมเพียงเท่านั้น

ภ.ง.ด.90  หรือ แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้มีเงินได้กรณีทั่วไปคือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้มีรายได้ที่มิใช่เงินเดือน หรือมีรายได้หลายทางตั้งแต่ 2 ประเภทขึ้นไป หรือสำหรับผู้ที่มีงานประจำแต่ได้รายได้จากทางอื่นด้วย เช่น ปันผลจากกองทุนและหุ้นขายที่ดินได้, มีทรัพย์สินให้เช่า, เงินมรดก, การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือมีกิจการเป็นของตัวเองเป็นต้น

 ภ.ง.ด.91 หรือ แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้มีเงินได้จากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1)แห่งประมวลรัษฎากรประเภทเดียวคือภาษีเงินได้ส่วนบุคคลสำหรับผู้มีรายได้ประเภทเงินเดือนเพียงอย่างเดียว ให้ยื่นแบบเพื่อเสียภาษีเงินได้ของทั้งปีครั้งเดียวภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป

เอกสารที่ใช้สำหรับยื่นเสียภาษี
     1. หนังสือรับรองเงินเดือนและการหักภาษี (50 ทวิ)
เอกสารนี้จะได้รับจากนายจ้างซึ่งเนื้อหาในเอกสารจะระบุถึงผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย จำนวนเงินได้ทั้งปี(รวมเงินเดือนโบนัสและเงินพิเศษต่างๆ) รวมทั้งชำระค่าประกันสังคมหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปเท่าไร โดยหักภาษีไว้ตามอัตราที่กำหนดแล้วนำภาษีที่หักไว้นี้ส่งกรมสรรพากร

     2. เอกสารต่างๆ ที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ อาทิ
– ทะเบียนสมรส
– เอกสารรับรองบุตร หรือสูติบัตรของบุตร กรณีสรรพากรเรียกตรวจ
– หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบิดา-
– เอกสารชำระค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดา-มารดา
– เอกสารชำระค่าเบี้ยประกันสุขภาพ
– หนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกันชีวิต
– หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพล
– ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย
– เอกสารรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
– เอกสารรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)
– หลักฐานการเป็นสมาชิกและจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ
ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป หรือใบเสร็จรับเงินที่แสดงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จากการท่องเที่ยวเมืองรอง
– ใบเสร็จรับเงินบริจาค
– ใบเสร็จรับเงินบริจาคช่วยเหลือน้ำท่วม
– ค่าใช้จ่ายฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร

     3. หนังสือหรือเอกสารรับรองเงินได้อื่น ๆ นอกเหนือจากเงินเดือน

สถานที่ยื่นภาษี
ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่น ณ
(1)   สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (สรรพากรเขต/อำเภอ เดิม) ในท้องที่ที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่
(2)   ธนาคารพาณิชย์ไทย และ สาขา ในเขตกรุงเทพมหานคร
ในเขตจังหวัดอื่น ให้ยื่น ณ
(1)   ที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอท้องที่ที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ในกรณีสำนักงานสรรพากรอำเภอมิได้ตั้งอยู่ ณ ที่ว่าการอำเภอให้ยื่น ณ สำนักงานสรรพากรอำเภอ หรือ
(2)   สำนักงานสาขาของธนาคารพาณิชย์ไทยในเขตอำเภอหรือกิ่งอำเภอท้องที่ที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่

ยื่นภาษีออนไลน์
     การยื่นแบบแสดงรายการภาษี ภ.ง.ด.50 , ภ.ง.ด.51 , ภ.ง.ด.53 และ ภ.ง.ด.54 สามารถยื่นผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากรก็ได้ทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ที่ www.rd.go.th 
     จะเห็นได้ว่าผู้ที่ต้องการยื่นกู้สินเชื่อกับทางสถาบันการเงิน จะต้องมีเอกสารหลักฐานสำคัญในการแสดงที่มาของรายได้ อย่างชัดเจนไม่ว่าจะเป็นสลิปเงินเดือน, Statement, 50 ทวิ รวมไปถึงหลักฐานการเสียภาษีเงินได้ ภ.ง.ด. 90/91 ซึ่งถ้าหากคุณมีรายได้มากแต่ยื่นรายได้ที่ต้องเสียภาษีน้อยสถาบันการเงินก็จะพิจารณาตามรายได้ที่คุณเสียภาษีเท่านั้น ซึ่งถ้าหากผู้กู้มีรายได้ประจำ หลักฐานแสดงที่มาของรายได้ก็เป็นสิ่งที่หาได้ไม่ยากนัก แต่สำหรับผู้กู้ที่ไม่มีรายได้ประจำ ภ.ง.ด.90/91 คือหลักฐานสำคัญที่จะช่วยยืนยันรายได้ต่อปีของคุณ ซึ่งจะทำให้สถาบันการเงินพิจารณาตรวจสอบความถูกต้อง ความมั่นคง รายได้ของผู้ยื่นกู้สินเชื่อได้สะดวก และอาจนำมาสู่การอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

ขอบคุณ เนื้อหา บ้านดี (www.baan-d.com)